สงครามการค้า สหรัฐฯ-จีนไม่เพียงกระทบเศรษฐกิจ แต่สั่นคลอนการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดของจีน การควบคุมแร่ธาตุเพิ่มความเสี่ยงให้จีนพลาดเป้าด้านสภาพภูมิอากาศ
สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่ทวีความรุนแรงขึ้น นำมาซึ่งผลกระทบโดยตรงต่อการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของจีน ซึ่งเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ที่สุดของโลก และขณะเดียวกันก็เป็นศูนย์กลางการผลิตเทคโนโลยีพลังงานสะอาดรายใหญ่ของโลกด้วย
การตอบโต้ด้วยการตั้งกำแพงภาษีระหว่างสองประเทศ ไม่เพียงคุกคามการค้าทวิภาคี แต่ยังรวมถึงการควบคุมการส่งออกแร่ธาตุ โดยจีนได้ประกาศควบคุมการส่งออกแร่ธาตุสำคัญบางชนิด รวมถึงแร่หายากบางประเภท
สงครามการค้านี้อาจส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดของจีนและของโลก จีนซึ่งเป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ที่สุดของโลก คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 30% ของการปล่อยทั่วโลก ขณะเดียวกันก็เป็นมหาอำนาจด้านเทคโนโลยีพลังงานสะอาดด้วย
โดยมีสถิติการติดตั้งพลังงานหมุนเวียนและยานยนต์ไฟฟ้า (EV) สูงสุด เเละจีนยังเป็นซัพพลายเออร์หลักของโลกสำหรับ EV แบตเตอรี่ และแผงโซลาร์เซลล์ ดังนั้น ความคืบหน้าของจีนในเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสิ่งแวดล้อมจึงมีนัยยะสำคัญต่อการค้า การลงทุน และการเปลี่ยนผ่านพลังงานของโลก
ผู้เชี่ยวชาญจาก ศูนย์การศึกษากลยุทธ์และระหว่างประเทศ (CSIS) รายงานว่า หากไม่มีการตกลงลดภาษีกันได้ การค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนมีแนวโน้มลดลงอย่างรุนแรง ซึ่งจะยิ่งกดดันเศรษฐกิจจีนที่กำลังซบเซาอยู่แล้ว หากรัฐบาลจีนเลือกกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการเน้นอุตสาหกรรมและโครงสร้างพื้นฐานแบบเดิม แทนการส่งเสริมการบริโภคและบริการ ก็อาจทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกพุ่งสูง และทำให้จีนยากที่จะบรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศที่ตั้งไว้
ปีนี้มีความสำคัญเป็นพิเศษ เพราะหลายประเทศ รวมถึงจีน ต้องเสนอเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซสำหรับปี 2035 ตามข้อตกลงปารีส แม้เดิมกำหนดส่งในเดือนกุมภาพันธ์ แต่หลายประเทศ รวมทั้งจีนและสหภาพยุโรป เลื่อนกำหนดส่งออกไป และคาดว่าจะยื่นทันก่อนการประชุม COP30 ที่บราซิลปลายปีนี้
สหรัฐได้ประกาศถอนตัวจากข้อตกลงปารีส ผู้สังเกตการณ์จำนวนมากจึงหวังว่าสหภาพยุโรปและจีนจะเข้ามารับหน้าที่ผู้นำในการประชุม COP30 การคาดการณ์เศรษฐกิจเชิงลบของจีนอาจลดความทะเยอทะยานด้านสภาพอากาศลงอีก ซึ่งถือเป็นสัญญาณเชิงลบสำหรับประเทศอื่นๆ และสำหรับระบบราชการภายในจีนที่มักดูสัญญาณจากรัฐบาลกลางเพื่อหาแนวทางว่าควรให้ความสำคัญกับเป้าหมายนโยบายใด
ผลกระทบทางอ้อมจากภาษีต่อพลังงานสะอาดของจีน
นอกจากผลกระทบตรงแล้ว ภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ที่มีต่อประเทศอื่น ๆ ก็อาจส่งผลกระทบต่อจีนในทางอ้อม หากสหภาพยุโรปต้องผ่อนคลายกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อช่วยเหลือบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากภาษี จีนก็อาจมีแรงจูงใจน้อยลงในการปรับปรุงห่วงโซ่อุปทานให้สะอาดขึ้น
แม้ว่าภาษีที่ประกาศเมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา จะถูกระงับชั่วคราวเป็นเวลา 90 วันและแทนที่ด้วยภาษีนำเข้าแบบครอบคลุม 10% แต่ภาคยานยนต์ เหล็ก และอะลูมิเนียมยังคงเผชิญภาษีเพิ่มเติม ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมภาวะเศรษฐกิจโลกที่เปราะบาง
ความเสี่ยงต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีพลังงานสะอาดของจีน
แต่ละอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบต่างกันตามระดับการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ เช่น 25% ของการส่งออกแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนของจีนในปี 2024 มุ่งหน้าไปยังสหรัฐฯ ขณะที่การส่งออก EV และแผงโซลาร์เซลล์โดยตรงยังน้อย อย่างไรก็ตาม สหรัฐฯ นำเข้าแผงโซลาร์เซลล์จากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งผลิตโดยบริษัทจีนจำนวนมาก
การควบคุมการส่งออกแร่ธาตุของจีนอาจกระทบกับบริษัทต่างชาติที่พึ่งพาวัตถุดิบเหล่านี้ และหากยืดเยื้อเกินไป อาจกระทบบริษัทจีนเองเช่นกัน โดยเฉพาะในบริบทที่เศรษฐกิจซบเซา
อุปสงค์ภายในประเทศยังคงเป็นปัจจัยสำคัญต่อผู้ผลิตจีน รวมถึงภาคพลังงานสะอาด แต่แนวโน้มเศรษฐกิจที่ไม่สดใส อาจทำให้การติดตั้งโครงการพลังงานสะอาดใหม่ลดลง และกระทบการลงทุนด้านเทคโนโลยีและการวิจัยพัฒนาในระยะยาว เนื่องจากบริษัทต่างๆ อาจมีความต้องการลงทุนในโครงการที่มีความเสี่ยงน้อยลง แม้ว่ารัฐบาลกลางจะยังคงสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา แต่โครงการที่ขึ้นอยู่กับงบประมาณของรัฐบาลท้องถิ่นและบริษัทเอกชนอาจเผชิญกับข้อจำกัดมากขึ้น นอกจากนี้ การวิจัยใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับความร่วมมือกับสหรัฐก็ตกอยู่ในอันตราย
แม้ว่าการควบรวมกิจการในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดจะเป็นแนวโน้มที่รัฐบาลจีนสนับสนุน แต่การแทรกแซงของรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อช่วยเหลือบริษัทที่มีปัญหา อาจทำให้ปัญหากำลังการผลิตล้นเกินยิ่งรุนแรงขึ้น
การส่งออกเทคโนโลยีพลังงานสะอาดของจีนในอนาคต
หลังเผชิญแรงกดดันจากสหรัฐฯ จีนมีแนวโน้มจะกระจายตลาดส่งออกมากขึ้น การส่งออก EV และแผงโซลาร์เซลล์ไปยังเอเชียและลาตินอเมริกาเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในประเทศที่ไม่มีอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดภายในประเทศที่ต้องปกป้อง เช่น แผงโซลาร์เซลล์ราคาถูกจากจีนได้เปลี่ยนโฉมระบบพลังงานของปากีสถาน และการส่งออกรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนได้ทำให้คอสตาริกากลายมาเป็นผู้นำด้านยานยนต์ไฟฟ้า
หากประเทศอื่นตกลงกับสหรัฐฯ ได้ แต่จีนยังคงถูกกีดกัน
จีนได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการย้ายการผลิตเพื่อหลีกเลี่ยงข้อจำกัดของสหรัฐฯ เช่น การย้ายฐานผลิตแผงโซลาร์เซลล์ไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลสหรัฐฯ มีแนวโน้มจะตรวจสอบห่วงโซ่มูลค่าของจีนที่ตั้งอยู่นอกประเทศอย่างเข้มงวดขึ้น และอาจกำหนดกฎแหล่งกำเนิดสินค้าใหม่ที่เข้มงวดกว่าเดิม
ขณะเดียวกัน มีรายงานว่ารัฐบาลจีนเองอาจกังวลมากขึ้นเกี่ยวกับการถ่ายโอนเทคโนโลยีและการรั่วไหลของเทคโนโลยีสำหรับแบตเตอรี่ เนื่องจากบริษัทต่างๆ ของจีนเพิ่มการผลิตในต่างประเทศ